วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

โอ้ดวงจำปา....บุปผาเมืองลาว




..จากจำปาลาว ถึงลั่นทม สู่ลีลาวดี...



ดอกจำปาลาว ที่หลายคนหลงไหลรูปลักษณ์หรือรูปทรงของดอก..ดอกไม้ซึ่งใช้ชีวิตในเมืองไทยในนาม”ดอกลั่นทม” และต่อมาถูกเรียกอยากสวยงามตามหน้าตาของดอกว่า”ลีลาวดี” คือดอกไม้ที่เพื่อนรัก เพื่อนเก่าของฉันหลงไหล...เขาบอกฉันว่า เมื่อได้ฟังเพลงนี้หรือเห็นดอกไม้ชนิดนี้ รู้สึกคิดถึงพวกเรา คิดถึงเพื่อนเก่า ที่เคยกิน เคยนอน เคยทำกิจกรรมร่วมกันมา...แต่ฉันบอกเขาว่าในมุมมองของฉัน เขาเป็นดอกไม้ที่ดูแล้ว บอบบาง และเศร้าสร้อย..เขาตอบกลับมาทันทีเช่นกัน..เขาหลงรักมันที่ตรงนี้..ตรงความบอบบางและเศร้าสร้อย..ของมัน...






...นี่เองสินะคือมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายคนหลงไหล..”ดวงจำปา” ..เพราะคนส่วนใหญ่มักชอบอะไรที่ดูบอบบาง น่าทนุถนอม มากกว่าความแข็งแกร่ง ทนทาน ที่ดูแล้วเหมือนจะไม่ต้องการ ความเอาใจใส่ดูแล...
ส่วนฉันก็มีความหลังกับดอกดวงจำปานี้เช่นกัน...เรื่องมีอยู่ว่า เพื่อนรักของฉัน ซึ่งเป็นผู้ "ปิดตำนานบ้านสาวโสด" ก่อนหน้าที่จะทำการปิดตำนานนี้ มีเรื่องไม่เข้าใจกันกับคนรัก..แต่ท้ายที่สุดด้วยความช่วยเหลือจากคุณแม่ผู้รักเอ็นดูว่าที่ลูกเขยคนนี้เสียเหลือเกินได้วางแผนนัดแนะให้เรามาทานอาหาร บรรยากาศโรแมนติก ที่มุมอร่อยพัทยา..ชายหนุ่มผู้มิเคยโรแมนติกเลย..แต่ด้วยความรัก..เขาหอบกิ่งดวงจำปาที่หักมาจากในร้าน (เจ้าของร้องร้านจ๊าก นี่ดวงจำปาจากเมืองลาวเชียวนะ) นักคุกเข่าที่พื้นทรายขอเธอแต่งงาน ท่ามกลาง สายตาของคนทั้งร้าน...สาวเจ้ารับรักด้วยความรู้สึก ทั้งอายทั้งดีใจระคนกัน..เมื่อเธอตกลง..เจ้าของร้านและฉันกองเชียร์หลัก จึงจัดงานแต่งงานให้ทั้งคู่ทันที..ว่าแล้ว..แท่ม แทม แท แดม แท่ม แทม แด แดม...


ทันใดนั้นเอง พี่อู๊ดเจ้าของร้านมุมอร่อยพัทยา ผู้ขี้เล่นแบบน่ารักๆ ยืนขึ้นบนเก้าอี้ พร้อม แปลงร่างเป็นบาทหลวง..ส่วนฉันก็เป็นเพื่อนรักที่รอรับช่อ ดวงจำปาช่อนั้น ซึ่งโยนมาเล้ยยย..ตอนนี้ไม่มีคนแย่ง อิอิอิ...เพื่อนำกลับมาปลูกที่บ้าน...เพราะในงานจริงครั้งแล้วครั้งเล่า ไปกี่งาน..ไม่เคยแย่งช่อดอกไม้ของเจ้าสาวได้เลย...

ส่วนที่มาที่ไปของการฟังเพลงหรือการเห็นดอกดวงจำปานี้ แล้วทำให้คิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อนเก่า คงมาจาก คำร้องของ เพลงดวงจำปา ฉบับเมืองลาว ซึ่ง อุตมะ จุลมณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาว ได้แต่งเพลงนี้ไว้ในช่วงที่เข้าร่วมชบวนการต่อสู้กู้เอกราชคืนจากฝรั่งเศส เมื่อเกือบห้าสิบปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวให้กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในสมัยนั้นได้เห็น โดยอุตมะ ได้ใช้ “ดอกจำปา” หรือดอกลั่นทม ที่ชาวลาวนิยมปลูกแต่ในอดีต เป็นสื่อบอกถึงความรักแผ่นดินถิ่นเกิดของชาวลาว โดยใช้ทำนองขับทุ้มหลวงพระบางในการเอื้อนเพลง ดวงจำปา เพลงนี้แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว และสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชาติลาว ในที่สุดฝรั่งเศสก็ยอมคืนเอกราชให้กับประเทศลาวได้ปกครองตนเอง และหลังจากการปฏิวัติม่วนซื่นในลาวเสร็จสิ้นลงเมื่อปี 2518 ท่านผู้นำลาวทั้งหลายก็ได้พร้อมใจกันเลือก ดวงจำปาเป็นดอกไม้ประจำชาติ ตลอดสองฝั่งโขงจากลาวเหนือที่พงสาลีจรดจำปาศักดิ์ที่ปากเซก็นิยมขับทุ้มเพลงนี้กันทั่ว





โอ้ดวงจำปา....เวลาซมดอก นึกเห็นพันซ่อง.... มองเห็นหัวใจ เฮานึกขึ้นได้....ในกลิ่นเจ้าหอม

เห็นสวนดอกไม้....บิดาปลูกไว้....ตั้งแต่นานมา เวลาง่วมเหงา....เจ้าซ่วยบรรเทา....เฮาหายโศกา

เจ้า ดวงจำปา....คู่เคียงเฮามา.... แต่ยามน้อยเอย

กลิ่นเจ้าสำคัญ....ติดพันหัวใจ เป็นน่าฮักใคร่....แพงไว้เซยซม ยามเหงาเฮาดม....เอ๋ยจำปาหอม

เมื่อดมกลิ่นเจ้า....ปานพบเพื่อนเก่า...ที่พรากจากไป เจ้าเป็นดอกไม้....ที่งามวิไล...ตั้งแต่ใดมา

เจ้าดวงจำปา....มาลาขวัญฮัก...ของเฮียมนี้เฮย โอ้ดวงจำปา....บุปผาเมืองลาว

งามดั่งดวงดาว.... ชาวลาวเพิ่งใจ เกิดอยู่ภายใน....แดนดินล้านซ้าง

ถ้าได้พลัดพราก....หนีไปไกลจาก....บ้านเกิดเมืองนอนเฮาจะเอาเจ้า....เป็นเพื่อนบรรเทา....เท่าสิ้นซีวา

เจ้าดวงจำปา....มาลางามยิ่ง....มิ่งเมืองลาวเอย

ต้นจำปาลาวหรือ ลั่นทม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เนื้อไม้อ่อน แตกกิ่งเป็นแฉกเป็นง่ามกระจายออก ทำให้เกิดทรงพุ่มใหญ่ กิ่งเปราะง่าย ทิ้งใบในฤดูแล้ง แล้วผลิดอก และใบรุ่นใหม่ ในช่วงราวเดือนเมษายนเป็นต้นไป เราจะได้ชมดอกลั่นทมบานเต็มต้น ปราศจากใบบัง สวยงามมาก ใบลั่นทมโตเป็นรูปใบหอก แข็งแรงมีสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อ ถ้าต้นสมบูรณ์ดี ช่อหนึ่งจะมีดอกหลายสิบดอกเป็นกลุ่มสวยงามมาก มีกลีบดอก 5 กลีบ มีหลายลักษณะ บางชนิดกลีบเวียนซ้อนกัน บางชนิดกลีบดอกเรียงกัน บางชนิดปลายกลีบดอกแหลม บางชนิดปลายกลีบดอกมน มากมายหลายสี บางต้นอาจมีดอกมีสีเดียว เช่น ขาว แดง ชมพู แต่บางต้นจะมีดอกที่มีสีแซมกันเป็นหลายสี ขนาดดอกใหญ่ เล็ก ต่างกัน ดอกลั่นทมมีกลิ่นหอมพิเศษ ช่วยให้ผ่อนคลาย ส่วนที่จะหอมมาก หอมน้อย นั้นต่างกันไปแต่ละชนิด จึงเป็นที่นิยมใช้กันมากในวงการสปา และเป็นไม้มงคลของผู้เกิดราศีมีน


ประวัติการเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้นมีหลายกระแสความด้วยกัน บ้างบอกว่าลั่นทมเข้ามาในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศอินโดนีเซีย เป็นพันธุ์ดอกสีขาว ใบสีเขียวเข้ม โดยนำมาปลูกที่พระราชวัง บนเขาวัง และที่เกาะสีชัง แต่ก็ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าลั่นทมได้เข้ามายังประเทศไทยก่อนหน้านั้นแล้ว ด้วยมีบทวรรณกรรมของสุนทรภู่ ซึ่งเกิดและเติบโตในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้กล่าวถึงดอกลั่นทมไว้หลายเรื่อง เช่นเดียวกับบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เรื่องอิเหนาที่กล่าวถึงต้นลั่นทม
“เดินพลางทางชมพรรณไม้ พฤกษาใหญ่เรียบเรียงรื่นร่ม ริมทางหว่างเขาล้วนลั่นทม ต้องลมดอกดวงร่วงเรี่ยทาง”
อิเหนา…พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
การเดินทางของดวงจำปา
ตามที่เล่า กันต่อๆ มาว่า ต้นลั่นทม ไม่มีใครมาปลูกในบ้านกันหรอก เพราะชื่อฟังแล้วก็ดูระทมแล้ว แต่ในปัจจุบัน ไม้พันธ์นี้ เป็นที่นิยมกันมาก เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณราวพุทธ ศตวรรษที่ 17 โดยเข้ามาทางอาณาจักรขอม (ประเทศกัมพูชา) ในยุคสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่2 (พ.ศ. 1650 – 1700) เป็นกษัตริย์ผู้ทรงสร้างพระนครวัด ในครั้งนั้นเจ้าฟ้างุ้ม พระโอรสแห่งเมืองลาวมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้พลัดพรากจากชาติภูมิ ไปพำนักที่เขมรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และต่อมาได้เป็นมหาดเล็กในราชสำนัก เมื่อโตขึ้นจึงคิดจะกลับเมืองลาว ครั้งที่เจ้าฟ้างุ้มเดินทางจากเขมร มีบันทึกว่าได้เข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนที่จะเดินทางเข้าเมืองลาว สันนิษฐานว่าเจ้าฟ้างุ้มน่าจะนำต้นไม้ชนิดกลับไปยังประเทศลาวด้วย เพราะจากบันทึกของประเทศลาวได้กล่าวถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า จำปา (ชื่อเรียกต้นลั่นทมในภาษาลาว) นอกจากนี้ประเทศลาวเอง ยังมีเมืองสำคัญแห่งหนึ่งชื่อ จำปาสัก ซึ่งหมายถึงต้นลั่นทม นั่นเอง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่ามีการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงนี้ แต่เป็นที่น่าคิดว่า สมัยสุโขทัยที่มีการยึดอำนาจอาณาจักรขอมน่าจะนำเอาต้นไม้ชนิดนี้เข้ามาบ้าง ราชอาณาจักรไทยกับบันทึกของลั่นทม ในช่วงปี พ.ศ. 2232 – 2238 ชาร์ลส์ พลูมิเยร์ (Charles Plumier) ผู้เขียนเรื่อง The Flora of Tropical America ) ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปแถบหมู่เกาะเวสต์อินดีสเพื่อคันหาพืชพันธุ์ใหม่ๆ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพบพันธุ์ไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งซึ่งนิยมปลูกตามสุสาน ดอกมีกลิ่นหอม ต้นไม้ที่ว่านั้นคือดอกลั่นทม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ตรงกับสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งราชอาณาจักรสยาม มีการเจริญสันพันธ์ไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส แต่คาดว่าต้นลั่นทมอาจจะยังไม่เข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงนี้ พิจารณาได้จากจดหมายเหตุและพงศาวดารพระราชอาณาจักรสยามครั้งสมัยกรุง ศรีอยุธยา ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2230 โดยมองซเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ( Monsieur de LaLoubere) เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ผู้เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาสน์ ณ กรุงสยาม ในคณะทูตานุทูตฝรั่งเศสชุดที่2 ได้เขียนเล่าเรื่องราวของกรุงสยามเป็นภาษาฝรั่งเศสและบันทึกถึงชื่อต้นไม้ ที่ชื่อลั่นทม เหตุอย่างหนึ่งอาจเกิดจากพื้นที่ของอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม ในฤดูน้ำหลากมักเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดนี้ จีงยังไม่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ต่อมาในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่9 (พระเจ้าท้ายสระ) ราวปี พ.ศ.2260 กรุงศรีอยุธยาได้ติดต่อทำการค้ากับประเทศสเปน ในช่วงนี้มีการนำเอาต้นลั่นทมเข้ามามากที่สุดจากฟิลิปปินส์ โดยทหารสเปนที่เข้ามายึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมนำลั่นทมจากประเทศแถบละตินอ เมริกาเข้ามายังภูมิภาคนี้ สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาพบหลักฐานทางวรรณคดีที่เอ่ยถึงลั่นทม เรื่องบุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาค วัดท่าทราย เข้าใจว่าแต่งในราวปี พ.ศ.2293 – 2301 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏตอนพรรณนาถึงลานพระพุทธบาท สระบุรี ดังนี้ “ลั่นทม ระดมดาษ ดุจราชประพัตรา แก้วกรรณิกากา- รเกษกลิ่นกำจรลม” ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเริ่มปรากฏหลัก ฐานเด่นชัดเกี่ยวกับลั่นทมมากขึ้น โดยพบจากงานเขียนในวรรณคดีหลายเรื่องดังความ ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ที่ว่า “ศาลา มีทั้งระฆังห้อย เขาตีบ่อยไปยังค่ำไม่ขาดเสียง ดงลั่นทมร่มรอบคิรีเรียง มีกุฎิ์เคียงอยู่บนเขาเป็นหลั่นกัน” และสมัยรัชกาลที่4 มีการสร้างพระราชวังที่จังหวัดเพชรบุรี ชื่อพระนครคีรี หรือเขาวัง โดยนำเอาลั่นทมสีขาว (Plumeria obtuse L.) มาปลูกเรียงรายขึ้นไป แลเห็นเป็นเสมือนภูเขาลั่นทมเช่นเดียวกันกับพระราชฐานฤดูร้อนที่เกาะสีชัง ซึ่งรัชกาลที่5 ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระราชทานนามว่า “จุฑาธุชราชฐาน” ปี พ.ศ. 2435 ครั้งนั้นมีการปลูกต้นลั่นทมเป็นจำนวนมากที่เกาะสีชังจนกลายเป็นสัญลักษณ์ ของเกาะนี้ในเวลาต่อมา ส่วนลั่นทมชนิดดอกแดง (Plumeria ruba L.) นั้น พระยาอัชราชทรงสิริเป็นผู้นำมาจากปีนัง และนำมาปลูกที่จังหวัดภูเก็ตคราวพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ประพาสปีนัง (พ.ศ. 2467)ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มเห็นดอกลั่นทมสีต่างๆ มากขึ้น

ชื่อเสียงเรียงนามของเจ้าดวงจำปา

การเรียกชื่อพื้นเมืองของลั่นทมแตกต่างกันไป อย่างประเทศเพื่อนบ้านเรายังเรียกชื่อที่แตกต่างกัน เขมร เรียกว่า “จำไป” และ “จำปาซอ” ถ้ามาเลเซียจะเรียกว่า “กำโพชา” “จำปากะ” อินโดนีเซียเรียกว่า “กำโพชา” อินเดียเรียกว่า “พหูล แคร์จำปา” “ซอนจำปา” “จินจำปา” พม่าเรียกว่า “ต่ายกสะกา” แม้แต่ไทยเองยังเรียกแตกต่างกัน ทางพายัพ เรียก “จำปาลาว” อีสานเรียก “จำปาขาว” ปักษ์ใต้เรียก “จำปาขอม” ภาคกลางเรียก “ลั่นทม” ส่วนความหมายของชื่อมีแตกต่างกันไปดังนี้ ลั่นทม แปลว่า ดอกไม้ใหญ่ ลั่น แปลว่าใหญ่ หรือดัง ทม แปลว่าดอกไม้ ลั่นทม แปลว่า ละทิ้งจากความโศกเศร้า ลั่นแปลว่าทิ้ง ทม แปลว่าระทม ลั่นทม แปลว่า รักอันยิ่งใหญ่ เพี้ยนมาจากคำว่า สรัลทม (ภาษาเขมร) ลั่นทม เพี้ยนมาจากคำว่าลานธม ในอดีตของชาวเขมรบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นครธม เขาจะไปยังลานหินแล้วนำเอาดอกไม้ชนิดนี้ไปวางที่ “ลานธม” จีงเพี้ยนกลายเป็นดอกลั่นทม

แต่ที่สำคัญ... เพื่อนรักของฉันยังยืนยันที่จะเรียก ดอกดวงจำปาเช่นเดิม ไม่ทราบว่ามีความหมายอะไรมากมายกว่านี้หรือเปล่าน่ะสิ.....

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น